ประวัติ ของ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม)

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ เป็นหม่อมราชนิกูล มีนามเดิมว่าหม่อมราชวงศ์ปฐม เป็นโอรสในหม่อมเจ้าเมฆิน คเนจร เป็นพระนัดดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ต้นราชสกุล คเนจร และเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อใดยังสืบหาหลักฐานไม่พบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุในพระนิพนธ์คำนำหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 4 ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2458 ไว้ว่า หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อศึกษาจนครบหลักสูตรแล้ว จึงเข้ารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนจะย้ายเข้ามารับราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยสมัครออกไปรับราชการในพื้นที่มณฑลอีสาน[1] ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ได้รับความก้าวหน้ามาเป็นลำดับจากตำแหน่งผู้ช่วยจนเป็นถึงปลัดมณฑลเป็นตำแหน่งสุดท้าย[2]

เมื่อตรวจสอบในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับประวัติการรับราชการของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ดังนี้ (หมายเหตุ: วันขึ้นปีใหม่ขณะนั้นคือวันที่ 1 เมษายน)

  • 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 หม่อมอมรวงศ์วิจิตร์ ราชินิกูล ถือศักดินา 800[3]
  • พ.ศ. 2444 ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสาน[4]
  • 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสาน เพื่อย้ายกลับเข้ามารับราชการในพระนคร[5]
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2447 รับราชการเป็นเลขานุการกระทรวงมหาดไทยในพระนคร[6]
  • 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้รั้งตำแหน่งปลัดเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า[7] (นับรวมเข้าในทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ย้ายไปรับตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี แทนพระพิศาลสงคราม ที่ไปเป็นปลัดมณฑลภูเก็ต[8]
  • 18 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ย้ายจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง[9]
  • 31 ตุลาคม พ.ศ. 2450 ย้ายจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ไปเป็นปลัดมณฑลอีสาน[10] (นับรวมเข้าในทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี)

หม่อมอมรวงษ์วิจิตรถึงแก่กรรมเนื่องจากป่วยเป็นไข้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2451[11] แต่ในคำนำหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 4 ระบุว่าเป็นวันที่ 11 ตุลาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการเสียชีวิตของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร์ไว้ว่า "เมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช 1269 พ.ศ. 2450 มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดนซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้นเป็นฤดูฝน ทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงษ์วิจิตรรับอาสาออกไป ก็ไปเป็นไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเป็นไข้จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิษไข้ไม่ได้ สิ้นชีพในระหว่างทางที่มา"[2] ในหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 ระบุถึงราชการชายแดนของหม่อมอมรวงษ์วิจิตรในครั้งนั้นว่าเป็นการควบคุมการปักปันเขตแดนไม่ให้ฝรั่งเศสเอาเปรียบไทยจนเกินไป[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม) http://www.angthong.go.th/history-atg.pdf http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2446/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2447/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2447/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/02...